วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ใบความรู้ วิชาประวัติศาสตร์ ชั้น ม.2 เรื่อง สภาพเหตุการณ์ปลายสมัยธนบุรี 22/08/2556



เรื่อง สภาพเหตุการณ์ปลายสมัยธนบุรี
        พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุ กรมหลวงนรินทรเทวี พระธิดาลำดับที่ 6 ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ประสูติจากพระน้องนางของพระอัครมเหสี (หยก) เป็นพระน้องนางเธอต่างพระชนนี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนาท่านขึ้นเป็น พระองค์เจ้าหญิงกุ วังของพระองค์เจ้าหญิงกุ อยู่ติดกับวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์)   อีกทั้งขณะยังคงพระชนม์ชีพ พระองค์เจ้าหญิงกุยังมิได้ทรงกรม ชาววังจึงเอ่ยพระนามว่า เจ้าครอกวัดโพธิ์
        พระองค์เจ้าหญิงกุ ทรงบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2310 ถึง พ.ศ. 2363 ในช่วงรัชกาลที่ 2 โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบบันทึกจำนวนหนึ่งเล่มสมุดไทย เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยไม่ทราบ ว่าใครเป็นผู้แต่ง และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า       ผู้แต่งน่าจะเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี และทรงตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า "จดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ            กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่จุลศักราช 1129 ถึงจุลศักราช 1182 เป็นเวลา 53 ปี"
        พระองค์เจ้าหญิงกุ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อปีกุน จ.ศ.1189 ตรงกับ พ.ศ. 2370 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระอัฐิเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี และเจ้านายที่สืบเชื้อสายจากพระองค์ถือว่าอยู่ใน “ราชสกุลนรินทรกุล”
        บันทึกของพระองค์เจ้าหญิงกุกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวถึงสภาพเหตุการณ์ปลายสมัยธนบุรีไว้ ดังนี้
        “.......อยู่ภายหลังกรุงธนบุรีเกิดโกลี พันศรีพันลาเป็นต้นฟ้องว่า ขุนนางและราษฎรขายข้าวเกลือลงสำเภา โยธาบดีผู้รับฟ้องกราบทูล รับสั่งให้เร่งเงินที่ขุนนางราษฎรขายข้าวเกลือ ให้เฆี่ยนเร่งเงินเข้าท้องพระคลัง ร้อนทุกเส้นหญ้า          สมณราษฎรไม่มีสุข ยุคเข็ญเป็นที่สุดในปลายแผ่นดิน เงินในคลังในหาย 2,000 เหรียญๆ ละ 1 บาท 3 สลึง 1 เฟื้อง     แพรเหลือง 10 ม้วน รับสั่งเรียกหาไม่ได้ ชาวคลังต้องเฆี่ยนใส่ไฟย่างแสนสาหัส ท่านสงสัยว่าข้างในขโมยเงินในคลัง         จนพระมาตุจฉาพระพี่นางเธอให้จำหม่อมเจ้านัดดาแทนมารดาเจ้าแทนอยู่งาน คนรำใหญ่ให้เฆี่ยนคนละ 150 คนละ           100  คนละ 50 คนรำเล็กให้พ่อให้แม่พี่น้องทาสรับพระราชอาญา 100 ให้เจ้าตัวแต่คนละ 20 ที คนละ 10 ทีตามรับสั่ง
        หลวงประชาชีพ โจทก์ฟ้องว่าขายข้าว รับสั่งให้ตัดศีรษะหิ้วเข้ามาถวายที่เสด็จออกทอดพระเนตร เหตุผลกรรม      ของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดิน แสนร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดินด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น
        ผู้รักษากรุงเก่าพระชิตณรงค์ผูกขาดขึ้นไปจะเร่งเงินไพร่แขวงกรุงเก่าให้ได้โดยจำนวน 500 ชั่ง เร่งรัดไพร่เมืองยากครั้งนั้นสาหัส.......
(จิระพันธ์ ชาติชินเชาวน์ รวบรวม)
                        ข้อมูลเนื้อหาจาก หน่วยการเรียนรู้ที่3 วิชาประวัติศาสตร์ ชั้น ม.2

                             บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. http://www.aksorn.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น